Wednesday, October 21, 2009

บริษัทและบริษัทมหาชน - ทบทวน



บริษัท และบริษัทมหาชน

ผู้ประกอบธุรกิจอาจเลือกรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท บริษัทมหาชน ทั้งนี้ การดำเนินรูปแบบธุรกิจแต่ละประเภทต้องปฎิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้จะกล่าวถึงการประกอบธุรกิจประเภท “บริษัท” และ “บริษัทมหาชน” ในภาพกว้าง ๆ

แต่เดิมนั้น ธุรกิจประเภทบริษัทจำกัดมีแต่บริษัท ซึ่งจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 ได้มีบริษัทอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า “บริษัทมหาชน” ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชน พ.ศ. 2521 (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535)

บริษัท

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 บัญญัติว่า “อันบริษัทจำกัดนั้น คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่คนถือ”

บริษัทจำกัด บางครั้งเรียกว่า “บริษัทเอกชน” คือ นิติบุคคลประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น ซึ่งมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินในหุ้นที่ตนถือหรือจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบ เช่น นายแดงถือหุ้นในบริษัท ร่วมมิตร จำกัด จำนวน 10 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท ความรับผิดของนายแดงจะมีไม่เกิน 1,000 บาท หรือหากนายแดงซึ่งถือหุ้น 10 หุ้น ได้ชำระค่าหุ้นบางส่วนโดยชำระ 250 บาท นายแดงก็จะรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่นายแดงยังส่งใช้ไม่ครบ คือ 700 บาท

ลักษณะทั่วไปของบริษัทจำกัด
(1) ต้องมีจำนวนผู้ร่วมลงทุนอย่างน้อย 7 คน จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
(2) ทุนจะแบ่งเป็นมูลค่าเท่า ๆ กัน เรียกว่า “หุ้น”
(3) ผู้ถือหุ้นแต่ละคนในบริษัทจำกัด มีความรับผิดชอบตามจำนวนหุ้นที่ถือ หรือไม่เกิน จำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าหุ้นที่ถือครอง
(4) มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล

หุ้นถือว่าเป็นทุนของบริษัท หุ้น ๆ หนึ่งจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท และไม่สามารถที่จะแบ่งหุ้นที่มีการตั้งมูลค่าไว้แล้วออกย่อยได้ เช่น หุ้นราคา 100 บาท ที่มีการตั้งมูลค่าไว้แล้ว จะแบ่งออกเป็นหุ้นละ 50 บาท จำนวน 2 หุ้นไม่ได้

การออกหุ้นให้สูงกว่ามูลค่าที่ตั้งไว้สามารถทำได้ หากหนังสือบริคณห์สนธิอนุญาต แต่การออกหุ้นโดยมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ตั้งไว้ไม่สามารถกระทำได้ เพราะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย

ในบริษัทจะมีบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคน ที่เรามักรู้จักกันในชื่อ “กรรมการบริษัท” แม้จะเป็นกรรมการ แต่ก็ไม่สามารถที่จะจัดการอะไรได้ตามอำเภอใจ อำนาจของกรรมการจะถูกกำหนดในข้อบังคับของบริษัท และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล (ครอบงำ) ของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น

ผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลที่มีอำนาจครอบงำการจัดการของกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะไต่ถามการดำเนินงานของบริษัท ตรวจดูสมุดบัญชี แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี ลงมติพิเศษในเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

จำนวนของกรรมการในแต่ละบริษัทจะมีจำนวนเท่าใด จะแต่งตั้งถอดถอนผู้ใด จะถูกกำหนดโดยมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เช่นเดียวกับการกำหนดค่าตอบแทนให้กรรมการ การพ้นตำแหน่งจากกรรมการบริษัท ซึ่งโดยปกติจะต้องอยู่ตามวาระที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นกำหนด กรรมการบริษัทก็อาจพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดวาระได้ หากกรรมการผู้นั้นตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ เมื่อกรรมการพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระ ก็จะทำให้ตำแหน่งนั้นว่างลง การจัดการดำเนินกิจการของบริษัทก็ย่อมเกิดปัญหาได้ ในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดทางแก้ คือ ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นจะเลือกกรรมการบริษัทใหม่ แทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลง โดยกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่นี้ จะอยู่ในตำแหน่งเท่าที่เวลาที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ออกไปนั้น

แม้ผู้ถือหุ้นซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีอำนาจครอบงำการจัดการบริษัทจะตายลง ความตายก็ไม่เป็นเหตุให้บริษัทต้องเลิกกิจการไป หากผู้ถือหุ้นคนใดตาย หรือไม่อยากที่จะถือหุ้นในบริษัทต่อไป ก็อาจขายหรือโอนหุ้นของตนได้ ส่วนการขายหรือโอนโดยหลัก สามารถที่จะขายหรือโอนให้ใครก็ได้ แต่หากข้อบังคับของบริษัทกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น ต้องเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นอื่นในบริษัทก่อน ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น

บริษัทใช่ว่าจะดำรงสถานะของตนได้ตลอดไป แม้ผู้ถือหุ้นยังต้องการที่จะดำเนินกิจการอยู่ แต่เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น บริษัทก็ต้องเลิกกิจการ เหตุการณ์ที่ว่าคือ

(1) ถ้ามีกรณีข้อบังคับของบริษัทกำหนดเหตุที่จะเลิกบริษัท เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น บริษัทก็ต้องเลิก
(2) บริษัทตั้งขึ้นโดยมีกำหนดเวลา เมื่อครบกำหนดเวลานั้น บริษัทก็ต้องเลิก
(3) บริษัทตั้งขึ้นเพื่อทำการบางอย่าง เมื่อการนั้นทำเสร็จแล้ว บริษัทก็ต้องเลิกกัน
(4) มีมติพิเศษให้เลิกบริษัท
(5) บริษัทล้มละลาย
นอกจากนี้ ศาลอาจส่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุดังต่อไปนี้

(1) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
(2) เมื่อตั้งบริษัทแล้ว 1 ปีเต็ม บริษัทยังไม่ได้เริ่มดำเนินกิจการ หรือหยุดดำเนินกิจการมา 1 ปีเต็ม
(3) ผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงเจ็ดคน
(4) ถ้าการค้าของบริษัททำไป ก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้

บริษัทมหาชน

ตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ได้ให้ความหมายของบริษัทมหาชนจำกัดไว้ว่า คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยความประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน กฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นต่อประชาชนจะถูกกำหนดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์คอยกำกับดูแล

การจัดตั้งบริษัทมหาชน ต้องประกอบด้วยผู้เริ่มก่อการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอย่างน้อยสิบห้าคนขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้เริ่มจัดตั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ

(1) บรรลุนิติภาวะแล้ว
(2) มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เริ่มจัดตั้ง ทั้งหมด
(3) จองหุ้นและหุ้นที่จองทั้งหมดนั้น ต้องเป็นหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเป็นตัวเงินรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียน
(4) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย และ
(5) ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ได้กระทำโดยทุจริต

ผู้เริ่มก่อการของบริษัทมหาชนต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน หุ้นของบริษัทมหาชนต้องมีมูลค่าเท่ากัน การเรียกให้ผู้จองหุ้นชำระค่าหุ้น สำหรับบริษัทนั้น กรรมการเรียกให้ผู้จองหุ้นชำระค่าหุ้นเพียงร้อยละ 25 ได้ แต่ในบริษัทมหาชนนั้น กรรมการต้องเรียกให้ผู้จองหุ้นชำระเงินค่าหุ้นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ใบหุ้นของบริษัทมหาชนต้องมีการระบุชื่อผู้ถือ สำหรับใบหุ้นของบริษัทอาจไม่ระบุชื่อผู้ถือก็ได้ ใบหุ้นที่ไม่ระบุชื่อนั้น การโอนหุ้นย่อมทำได้ โดยการส่งมอบใบหุ้น เมื่อใบหุ้นในบริษัทมหาชนต้องเป็นใบหุ้นที่ระบุชื่อ การโอนหุ้นย่อมสมบูรณ์เมื่อผู้โอนได้สลักหลังใบหุ้น โดยระบุชื่อผู้โอนและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน และส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอน หากผู้รับโอนประสงค์จะได้ใบหุ้นใหม่ ให้ร้องขอต่อบริษัท โดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้รับโอน และมีพยานหนึ่งคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อ พร้อมทั้งเวรคืนใบหุ้นเดิมให้แก่บริษัท และการโอนจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น กรรมการของบริษัทมหาชน กฎหมายกำหนดว่าจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่สำหรับบริษัทนั้นผู้ที่เป็นกรรมการนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท กรรมการในบริษัทจะเป็นใครก็ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ในบริษัทไม่ได้มีการกำหนดจำนวนกรรมการ กรรมการของบริษัทจึงมีเพียงหนึ่งคนได้ กรรมการของบริษัทมหาชน นอกจากที่กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท กฎหมายยังกำหนดว่าต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน และกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจะต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

บริษัทมหาชนย่อมเลิกกัน ในกรณีที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียงลง คะแนน บริษัทมหาชนล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัท เมื่อผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหุ้นที่ได้จำหน่ายทั้งหมดได้ร้องขอให้ศาลเลิกบริษัท ในกรณีที่ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการประชุมจัดตั้งบริษัท หรือการจัดทำรายงานการจัดตั้งบริษัท หรือคณะกรรมการบริษัทฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระเงินค่าหุ้น การโอนกรรมสิทธิทรัพย์สิน หรือทำเอกสารหลักฐานการใช้สิทธิต่าง ๆ ให้แก่บริษัทเพื่อชำระค่าหุ้น การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหรือการจดทะเบียนบริษัท หรือจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสิบห้าคน หรือกิจการของบริษัทดำเนินไปก็มีแต่จะขาดทุน และไม่มีหวังที่จะดำเนินกิจการให้ดีขึ้น

บริษัทมหาชนเป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมทุนจากประชาชน ประชาชนสามารถร่วมลงทุนกับบริษัทมหาชนนั้นได้ โดยการซื้อหุ้น และจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของเงินปันผล


No comments: